ผลการวิจัยของดร.จอร์จ แลนด์ เรื่องการทดสอบระดับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอายุ 3-5 ขวบจำนวน 1,600 คน โดยใช้แบบทดสอบ ผลที่ออกมาถือว่าน่าประหลาดใจอย่างมาก - ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอายุ 5 ปี: 98% - ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอายุ 10 ปี: 30% - ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอายุ 15 ปี: 12% จากผลการทดสอบดังกล่าว ดร.แลนด์สรุปสั้นๆ ว่าพฤติกรรมที่ไม่ ‘สร้างสรรค์’ หรือไม่ ‘ครีเอทีฟ’ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกเรียนรู้เมื่อคนเราโตขึ้น
ภาพจาก http://clipart-library.com/kids-learning.html
ความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้หรือไม่? ดร.แลนด์เชื่อว่าทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์สามารถเรียนรู้กันได้ ทว่าไม่ใช่จากการนั่งฟังเล็กเชอร์ในห้องเรียน ทักษะดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้และทดลองทำจริงผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ในปี 1956 ‘ลูอิส อาร์. ม็อบลีย์’ มองว่าความสำเร็จของสถาบันผู้นำ IBM (IBM Executive School) ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ของเหล่าผู้บริหาร จึงถือกำเนิดขึ้นมา ตามมาด้วย 6 ข้อค้นพบสำคัญ ดังต่อไป 1.การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมอย่างการอ่าน การจด การสอบ และการท่องจำล้วนแล้วแต่เปล่าประโยชน์ พวกมันมีแต่จะสร้างกรอบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่การศึกษาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การหา ‘คำตอบ’ ด้วยวิธีการแบบเส้นตรงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ม็อบลีย์กลับพบว่าการตั้ง ‘คำถาม’ แบบหัวรุนแรงด้วยแนวทางที่ไม่เป็นเส้นตรงต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญชองความคิดสร้างสรรค์ 2.ม็อบลีย์มองว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องแก้ไขความเข้าใจผิดและลืมข้อมูลเก่าๆ บางอย่างที่ถูกฝังหัวมา ตั้งแต่การอับอายขายขี้หน้า ความสิ้นหวัง ไปจนถึงความโกรธเกลียดและขุ่นเคือง สำหรับเหล่าผู้บริหารที่อีโก้สูง ม็อบลีย์ใช้น้ำเย็นเข้าข่มด้วยการให้พวกเขามีประสบการณ์แบบ ‘เจียมเนื้อเจียมตัว’ มากขึ้นเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยมองเห็นมาก่อน ซึ่งนั่นเองที่เป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสร้างสรรค์ 3.ทหารเรือไม่ได้ ‘เรียน’ หรืออ่านคู่มือเพื่อเป็นทหารเรือ แต่พวกเขาผ่านการฝึกมหาโหดในค่ายมากมายจน ‘กลายร่าง’ เป็นทหารเรือเต็มตัวในท้ายที่สุด เหมือนกับดักแด้ที่กลายร่างเป็นผีเสื้อเมื่อถึงช่วงวัยอันสมควร การคิดอย่างสร้างสรรค์ของคนเราก็เช่นกัน คอร์สเรียนนาน 12 สัปดาห์ของม็อบลีย์จึงแทนที่หนังสือเรียนและการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ด้วยปริศนา สถานการณ์สมมติ เกม และการทดลองทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียวไม่มีอยู่จริง 4.วิธีที่จะเร่งให้คนเรากลายเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้เร็วที่สุดก็คือการถูกห้อมล้อมด้วยคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองโง่เง่าแค่ไหนก็ตาม โดยสถาบันผู้นำ IBM คือสถานที่หนึ่งที่กระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นระบบระเบียบ เป็นกันเอง และออฟไลน์ 5.ความคิดสร้างสรรค์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการรู้จักตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำลายอคติได้หากเราไม่รู้ว่าตัวเองมีอคติอย่างไรและในเรื่องใดบ้าง สถาบันของม็อบลีย์จึงทำหน้าที่เป็นกระจกบานใหญ่เพื่อให้เหล่าผู้บริหารมองเห็นและทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น 6.ท้ายที่สุดและอาจจะสำคัญที่สุด ม็อบลีย์อนุญาตให้นักเรียนของเขาผิดพลาดได้ เพราะไอเดียที่ดีมักเกิดขึ้นหลังจากไอเดียแย่ๆ เป็นร้อยเป็นพันเสมอ ปัญหาใหญ่ที่สุดที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ก็เพราะความกลัวที่จะผิดพลาดและกลัวที่จะรู้สึกโง่เขลานี่เอง สำหรับม็อบลีย์แล้ว ไอเดียแย่ๆ ทั้งหลายล้วนเป็นการปูทางไปสู่ไอเดียที่ดีกว่าทั้งสิ้น ขอบคุณข้อมูลจาก www.tkpark.or.th